วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑
                                   ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๑

                                               โดย..
                                   ประวิทย์  เปรื่องการ


                                 
                                 บทที่ ๑๓
                           ปกิณกะวินัย (ต่อ)


          อื่น ๆ (ต่อ)


          ๔. วันที่ถือว่า "พ้นจากตำแหน่งเดิม" คือ ตั้งแต่วันที่ระบุในคำสั่ง แม้จะยังมิได้
               (๑) มอบหมายการงาน หรือ
               (๒) ถูกส่งตัวไปก็ตาม
               ผู้บังคับบัญชาเดิมไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัย หากมีการสั่งลงโทษ ต้องยกเลิกคำสั่งนั้นเสีย

          ที่มา : ๑. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๒/ป ๖๒๑ ลง ๒๘ มิ.ย.๒๕๓๖
                   ๒. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๒/ล ๓๑๙ ลง ๑๘ ต.ค.๒๕๓๗.


          ๕. ข้าราชการต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา ผู้บังคับบัญชาต้องรีบดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกันด้วย

          ที่มา : ๑. หนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ ๑๓๓๓๓/๒๔๙๘ ลง ๘ ก.ค.๒๔๙๘
                    ๒. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลง ๑๘ มี.ค.๒๕๐๙
                    ๓. หนังสือสำนักงาน ก.อบต.ที่ มท ๐๘๐๙.๒/ว ๗๔๐ ลง ๑๑ พ.ค.๒๕๔๗
                    ๔. หนังสือสำนักงาน ก.อบต.ที่ มท ๐๘๐๙.๖/๗๐๒๙ ลง ๑๗ พ.ย.๒๕๕๑.


         ๖. การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญา กฎหมายกำหนดเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากกัน การดำเนินการทางวินัยไม่จำต้องรอผลทางคดีอาญาแต่อย่างใด เมื่อกรณีหรือคดีถึงที่สุดผลอาจต่างกันได้ เพราะการรับฟังพยานหลักฐานอาจต่างกัน  แม้ศาลจะเห็นต่างผู้บังคับบัญชาก็หาต้องรับผิดไม่ ถ้าลงโทษไปโดยสุจริต

          ที่มา : คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๓๗๐/๒๕๕๐.


          ๗. หากการสอบสวนทางวินัยยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด สมควรรอการสั่งการเด็ดขาดทางวินัยไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลทางคดีอาญา

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๙ ลง ๖ ต.ค.๒๕๐๙.


          ๘. กรณีมีเหตุสงสัยว่าข้าราชการในสังกัดกระทำการทุจริต ให้ผู้บังคับบัญชาสอบสวนข้อเท็จจริงให้ประจักษ์เสียก่อนทุกคราว ก่อนแจ้งความหรือมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

          ที่มา : หนังสือกรมเลขาธิการ ครม.ที่ นว ๑๖/๒๔๘๖ ลง ๒๓ ม.ค. ๒๔๘๖.


          ๙. เจตนารมณ์ในการสอบสวนทางวินัย คือ ให้คณะกรรมการสอบสวนหรือผู้บังคับบัญชาสอบสวนจนสิ้นกระบวนการ ไม่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือระงับการสอบสวนที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายได้ หากปรากฏว่าคุณสมบัติของกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ผู้สั่งแต่งตั้งก็ชอบที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้ครบถ้วนถูกต้องได้

           ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๑/ล ๒๔ ลง ๓๑ ม.ค.๒๕๔๓.


           ๑๐. แนวคิดของการตั้งกรรมการสอบสวน คือ กรรมการสอบสวนต้องเป็นข้าราชการประจำ มีอย่างน้อย ๓ คน เพราะต้องการให้กระทำโดยคณะบุคคล ช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวน เพื่อเป็นการคานอำนาจของผู้บังคับบัญชา

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๑/๑๑๓ ลง ๑๐ เม.ย.๒๕๔๔.


          ๑๑. การที่จะถือว่ามีการดำเนินการทางวินัยแล้ว ให้พิจารณาจาก
                 (๑) ต้องตั้งเรื่องกล่าวหาโดยแจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าเขาตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยแล้ว
                 (๒) ให้โอกาสชี้แจงเหตุผลแก้ข้อกล่าวหาด้วย
                 (๓) ผลเป็นประการใดก็ตาม ถือว่ามีการดำเนินการทางวินัยตามกระบวนการของกฎหมายแล้ว

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ ๐๗๐๙.๒/ป ๑๑๑๘ ลง ๒๙ พ.ย.๒๕๓๗.


          ๑๒. การดำเนินการทางวินัยกรณีเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนไว้แล้ว จะออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนในเรื่องนั้นอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำนินการทางวินัยซ้ำ ต้องยกเลิกคำสั่งหลัง (ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง)

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๒/ล ๔๗ ลง ๑๙ ก.พ.๒๕๓๖.


          ๑๓. การพิจารณาว่าดำเนินการทางวินัยซ้ำหรือไม่ ให้ยึดถือหลักเจตนาของผู้กระทำและข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดย
                (๑) หากเป็นเรื่องกล่าวหาที่มีการกระทำหลายครั้งแต่มีเจตนาเดียวต่อเนื่องกัน
                (๒) ต้องถือว่าการกระทำทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ในเรื่องเดียวกัน
                (๓) เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยกับผู้กระทำผิดไปแล้ว จะดำเนินการทางวินัยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๑/ล ๙๐ ลง ๑๔ ก.พ.๒๕๔๕.


          ๑๔. ข้าราชการต่างสังกัดกระทำผิดร่วมกัน ให้แต่ละสังกัดปรึกษาหารือในการสอบสวนพิจารณาโทษให้ได้ระดับเดียวกัน โดยให้แต่ละสังกัดแต่งตั้งกรรมการสอบสวนประกอบด้วยตัวบุคคลชุดเดียวกันเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏไปในทางเดียวกัน

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นว ๓/๒๔๙๔ ลง ๒๙ ม.ค.๒๔๙๔.


          ๑๕. สำนวนการสอบสวนทางวินัยที่เสร็จเด็ดขาดแล้ว ให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี เพื่อประโยชน์ของทางราชการ เช่น
                 (๑) ใช้อ้างในทางอรรถคดี
                 (๒) พิจารณายกเว้นคุณสมบัติเกี่ยวกับความประพฤติ

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๖/ว ๖ ลง ๘ มิ.ย.๒๕๑๔.


          ๑๖. สำนวนการสอบสวนทางวินัยสูญหายโดยที่ผู้มีอำนาจยังมิได้วินิจฉัยสั่งการให้เสร็จไป
                 (๑) ถ้าไม่มี
                       ๑) สำเนาสำนวนการสอบสวน หรือ
                       ๒) สำเนารายงานการสอบสวน หรือ
                       ๓) เอกสารใด ๆ ที่จะยืนยันได้ว่าสำนวนการสอบสวนที่สูญหายไปนั้นมีพยานหลักฐานอย่างไรบ้างพอที่จะวินิจฉัยได้อยู่เลย
                 (๒) ควร
                       ๑) ให้คณะกรรมการทำการสอบสวนใหม่ หรือ
                       ๒) แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนใหม่
                            และพิจารณาให้เสร็จสิ้นไป

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๑๐๐๖/๑๔๐๐๗๔ ลง ๒๙ ต.ค.๒๕๑๙.     


          ๑๗.   ถูกจำคุกขณะรับราชการ แม้พฤติกรรมนั้นถูกลงโทษเป็นวินัยอย่างไม่ร้ายแรงไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงอีกครั้ง เพราะ
                    (๑) เป็นความผิดฐานกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
                    (๒) ไม่ได้ตั้งฐานจากการกระทำเดิมของผู้กระทำผิดซึ่งได้รับการล้างมลทิน แต่เป็นความผิดใหม่
                    (๓) ไม่เป็นการลงโทษทางวินัยซ้ำ เพราะเป็นความผิดคนละฐานกับฐานความผิดที่ถูกดำเนินการทางวินัยไปแล้ว

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๑๐๑๑/ว ๑๓ ลง ๒๓ มิ.ย.๒๕๔๗.


          ๑๘. เงินสมนาคุณกรรมการสอบสวนทางวืนัยเบิกได้เฉพาะการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ในอัตราดังนี้
                (๑) ประชุม/สอบสวนตามปกติ เบิกได้ครั้ง ๒๕๐ บาท
                (๒) ประชุมเพื่อจัดทำ สว.๓ และพิจารณามีมติเพื่อทำ สว.๖ เบิกได้ครั้งละ ๓๐๐ บาท
                (๓) เบิกได้ไม่เกิน ๖๐ วันนับแต่ประชุมครั้งแรก
                (๔) เบิกจากหน่วยงานเจ้าของคำสั่ง

          ที่มา : หนังสือสำนักงาน ก.อบต., ก.ท. และ ก.จ.ที่ มท ๐๘๐๙.๑/ว ๓๘๑ ลง ๑๙ มี.ค.๒๕๔๖.
                                 
                                                       
                                       สวัสดี
   
----------
          ๑. กรมการปกครอง, คู่มือการดำเนินการทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อาสารักษาดินแดน), ๒๕๔๕.
          ๒. สำนักงาน ก.พ., ตอบข้อหารือเกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือน, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สวัสดิการ ก.พ.), ๒๕๔๐.
          ๓. สำนักงาน ก.พ., รวมมติ ครม. มติ ก.พ.ที่เกี่ยวกับวินัย, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สวัสดิการ ก.พ.), ๒๕๕๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑                                    ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๑                                       ...