วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๒๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๒๓/๒๕๖๑
                                    ๑๖ ส.ค. ๒๕๖๑

                                               โดย..
                                    ประวิทย์ เปรื่องการ



                                 บทที่ ๑๐
                  การสอบสวนพิจารณา (ต่อ)

         
          ตัวบท
          (รวบรวมพยานหลักฐานต่างท้องที่)
          ข้อ ๖๙ ในกรณีจะต้องสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งอยู่ต่างท้องที่หรือส่วนราชการนอกการบังคับบัญชาของผู้บริหารท้องถิ่นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ประธานกรรมการสอบสวนจะรายงานต่อผู้บริหารท้องถิ่นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขอให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือหัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้น สอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทนก็ได้ โดยกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้บริหารท้องถิ่นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือหัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้นเลือกข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่อยู่ในบังคับบัญชาตามที่เห็นสมควรอย่างน้อยจำนวนสามคนมาเป็นคณะทำการสอบสวน
          ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะทำการสอบสวนมีฐานะเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรฐานทั่วไปนี้ และให้นำข้อ ๕๓ วรรคหนึ่ง ข้อ ๕๗ วรรคสอง ข้อ ๖๔ ข้อ ๖๕ ข้อ ๖๖ และข้อ ๖๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          คำอธิบาย
          การรวบรวมพยานหลักฐานต่างท้องที่ เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวน สามารถกระทำได้ ๒ วิธี คือ
          ๑. คณะกรรมการสอบสวน ไปทำการสอบสวนเอง
          ๒. ส่งประเด็นให้ปลายทางสอบสวนแทน

          ขยายความ
          เป็นการสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐาน ที่มี ๒ ลักษณะ คือ
          ๑. ต่างท้องที่
          ๒. ส่วนราชการภายนอก

          ซึ่งเป็นกรณีที่สามารถดำเนินการได้ ๒ วิธีดังกล่าว ได้แก่
          ๑. คณะกรรมการสอบสวนเดินทางไปสอบสวนเอง
               (๑) เป็นกระบวนการสอบสวนตามปกติ
               (๒) ให้คณะกรรมการสอบสวนเดินทางไปดำเนินการด้วยตนเอง
               (๓) ขออนุญาตเดินทางไปราชการตามระเบียบ
          ๒. ส่งประเด็นให้ปลายทางสอบสวนแทน
               (๑) เป็นกรณีที่มีความจำเป็นซึ่งคณะกรรมการสอบสวนไม่อาจไปสอบสวนเองได้ เช่น ไกลด้วยระยะทาง เป็นต้น
               (๒) คณะกรรมการสอบสวนต้องกำหนดประเด็น หรือข้อสำคัญที่จะสอบสวน
               (๓) ให้ประธานกรรมการสอบสวนรายงานผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อขอให้
                      ๑) ผู้บริหารท้องถิ่นอื่น
                      ๒) หัวหน้าส่วนราชการ หรือ
                      ๓) หัวหน้าหน่วยงานในท้องถิ่นนั้น
               สอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทน
               (๔) ให้ผู้บริหารท้องถิ่น ขอให้
                      ๑) ผู้บริหารท้องถิ่นอื่น
                      ๒) หัวหน้าส่วนราชการ หรือ
                      ๓) หัวหน้าหน่วยงานในท้องที่นั้น
               เลือก
                      ๑) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้น หรือ
                      ๒) ข้าราชการฝ่ายพลเรือน
               ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างน้อย ๓ คน เป็น "คณะทำการสอบสวน"
               (๕) คณะทำการสอบสวนมีฐานะเป็นคณะกรรมการสอบสวน
               (๖) ให้นำวิธีการของคณะกรรมการสอบสวนมาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ
                      ๑) มีการนับองค์ประชุม
                      ๒) ห้ามบุคคลอื่นร่วมทำการสอบสวน
                      ๓) การสอบสวนต้องครบองค์ประชุม
                      ๔) ข้อห้ามในการสอบปากคำ
                      ๕) วิธีการสอบสวน
                      ๖) การตัดพยาน


          ตัวบท
          (สอบพบเรื่องอื่น)
          ข้อ ๗๐ ในกรณีคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้บริหารท้องถิ่นโดยเร็ว ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามรายงาน ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนโดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้ทำการสอบสวน หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามหมวดนี้

          คำอธิบาย
          ตามปกติคณะกรรมการสอบสวนจะทำการสอบสวนเฉพาะในเรื่องกล่าวหาที่ระบุอยู่ใน สว.๑ เท่านั้น สอบสวนนอกเรื่องที่ระบุไม่ได้

          ๑. ถ้าสอบสวนแล้วพบว่า ผู้ถูกกล่าวหา
               (๑) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               (๒) หย่อนความสามารถ
               (๓) บกพร่อง หรือ
               (๔) ประพฤติตนไม่เหมาะสม
          ในเรื่องอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (สว.๑)
          ๒. ประธานกรรมการสอบสวนต้องรายงานผู้บริหารท้องถิ่นโดยเร็ว
          ๓. หากผู้บริหารท้องถิ่นเห็นด้วยกับรายงาน ให้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นใหม่อีก ๑ คำสั่ง โดย
               (๑) ใช้กรรมการคณะเดิม หรือ
               (๒) ใช้กรรมการคณะใหม่
          ๔. ให้คณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นใหม่ สอบสวนต่อไปตามปกติ
       

          ตัวบท
          (สอบพาดพิงผู้อื่น)
          ข้อ ๗๑ ในกรณีการสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้อื่น หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือข้าราชการตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาในเบื้องต้นว่าผู้ที่ถูกพาดพิงนั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำการในเรื่องที่สอบสวนนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการรายงานไปยังผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว
          ในกรณีผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่า กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้ทำการสอบสวน หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามหมวดนี้ กรณีเช่นนี้ให้ใช้พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้ แต่หากผู้ถูกพาดพิงเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือข้าราชการตามกฎหมายอื่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นเพื่อดำเนินการต่อไป
          ในกรณีคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยแยกเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนการสอบสวนเดิมรวมในสำนวนการสอบสวนใหม่ หรือบันทึกให้ปรากฏว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบการพิจารณาในสำนวนการสอบสวนใหม่ด้วย

          คำอธิบาย
          ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนระบุชื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดเป็นผู้ถูกกล่าวหา ก็จะสอบเฉพาะผู้นั้นในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหา จะสอบผู้อื่นในฐานะ "ผู้ถูกกล่าวหา" ไม่ได้โดยเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าจะสอบในฐานะเป็นพยานเท่านั้น

          ๑. แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทำหน้าที่สอบสวนได้สักระยะหนึ่ง จะพบว่ามีการพาดพิงถึง
              (๑) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้อื่น
              (๒) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
              (๓) ข้าราชการตามกฎหมายอื่น
          ที่มิได้ถูกระบุชื่อว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคำสั่ง สว.๑ มาแต่ต้น
          ๒. ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาในเบื้องต้นว่าผู้นั้นร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่
          ๓. ถ้าเห็นว่ามีส่วนร่วม ประธานกรรมการสอบสวนต้องรายงานผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว
          ๔. ในกรณีผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่า
               (๑) มีมูลว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               (๒) หย่อนความสามารถ
               (๓) บกพร่อง
               (๔) ประพฤติตนไม่เหมาะสม
          ให้ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นใหม่อีก ๑ คำสั่ง โดย
               (๑) ใช้กรรมการคณะเดิม หรือ
               (๒) ใช้กรรมการคณะใหม่
          ก็ได้ (เป็นดุลพินิจ)
          ๕. คณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่นี้ สามารถใช้พยานหลักฐานที่สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้
          ๖. หากเป็น
               (๑) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือ
               (๒) ข้าราชการตามกฎหมายอื่น
          ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นเพื่อดำเนินการต่อไป
          ๗. กรณีแยกการสอบสวนเป็นสำนวนใหม่
               (๑) ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนเดิมรวมในสำนวนใหม่ หรือ
               (๒) บันทึกว่าได้นำพยานหลักฐานใดในสำนวนเดิมมารวมไว้ในสำนวนใหม่
             

          ตัวบท
          (สอบหย่อน/บกพร่อง/ประพฤติตนไม่เหมาะสม แล้วพบวินัย)
          ข้อ ๗๒ ในกรณีผู้บริหารท้องถิ่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนเพื่อสอบสวนข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดในเรื่องที่ผู้นั้นหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามข้อ ๗ ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ และผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่าการสอบสวนเรื่องนั้นมีมูลว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นเห็นควรสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้นั้นตามข้อ ๒๖ วรรคหก ให้ดำเนินการตามมาตรฐานทั่วไปนี้ กรณีเช่นนี้ คณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๒๖ วรรคหก จะนำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ ๗ ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาประกอบการพิจารณาก็ได้

          คำอธิบาย
          ๑. ผู้บริหารท้องถิ่นแต่งตั้งกรรมการสอบสวน ในเรื่อง
               (๑) หย่อนความสามารถ
               (๒) บกพร่อง หรือ
               (๓) ประพฤติตนไม่เหมาะสม
          ๒. และเห็นว่ามีมูลว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งควรแต่งตั้งกรรมการสอบสวน
          ๓. ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง อีก ๑ คำสั่ง และให้คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนไปตามปกติ
          ๔. คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าว จะนำสำนวนการสอบสวนที่สอบเพราะหย่อน/บกพร่อง/ประพฤติตนไม่เหมาะสมมาประกอบการพิจารณาทางวินัยก็ได้
         

                               สวัสดี


-----------
           - มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.๒๕๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑                                    ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๑                                       ...