วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๙/๒๕๖๑

บทเรียน..ผ่านไลน์"     ครั้งที่ ๙/๒๕๖๑
                                    ๑๙ มิ.ย.๒๕๖๑

                                               โดย..
                                    ประวิทย์ เปรื่องการ

           
                           
                                   บทที่ ๕
                   วินัยและการรักษาวินัย (ต่อ)


          กรณีศึกษาวินัยฐานที่ ๑๘ ฐานสุดท้าย คือ "ฐานประพฤติชั่ว" ซึ่งได้กล่าวในบทที่แล้วว่า มี "แนวทางพิจารณา ๓ ประการ" ความผิดลักษณะเดียวกัน อาจเป็นได้ทั้งวินัยอย่างร้ายแรงและอย่างไม่ร้ายแรง โดยต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป ดังนี้

          (ประพฤติชั่วอย่างไม่ร้ายแรง)

          ๑. กรณีเสพสุรา
          เจ้าหน้าที่ป้องกันฯ มีอาการมึนเมาสุรามาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ประมาณเดือนละ ๑-๒ ครั้ง บางครั้งส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย ก่อความรำคาญแก่เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาเคยว่ากล่าวตักเตือนแล้ว ก็ยังไม่เชื่อฟัง ลงโทษภาคทัณฑ์
     
          ๒. กรณีไม่ชำระหนี้
          นักพัฒนาชุมชน ทำสัญญากู้ยืมเงินจากเพื่อนบ้าน ๕,๐๐๐ บาท แล้วไม่ชำระหนี้ เพื่อนบ้านจึงร้องเรียนต่อนายกฯ เมื่อนายกฯ สั่งให้ชำระก็ยังเพิกเฉย เพื่อนบ้านจึงไปแจ้งความดำเนินคดี ต่อมาพี่สาวได้นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระแทน ลงโทษภาคทัณฑ์

          ๓. กรณีประพฤติตนในทำนองชู้สาว
          นักวิชาการศึกษา ไปมาหาสู่คบหาสมาคมในลักษณะสองต่อสองกับเพื่อนสาวร่วมงานทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเหตุให้ผู้อื่นเข้าใจว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว จนทะเลาะวิวาทกับภรรยา ลงโทษตัดเงินเดือน ๕ % ๓ เดือน

          ๔. กรณีกระทำอนาจาร
          นักวิเคราะห์นโยบายฯ จับมือถือแขนหญิงสาวที่ระเบียงบ้านของฝ่ายหญิง ผิดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ลงโทษภาคทัณฑ์

          ๕. กรณีปลอมแปลงเอกสาร
          เจ้าหน้าที่ดับเพลิง อยู่เวรดับเพลิง ทำการปลอมแปลงลายมือชื่อหัวหน้าฯ ในใบแทนเวร เพื่ออนุญาตให้เจ้าหน้าที่อื่นเข้าเวรแทนตน ลงโทษตัดเงินเดือน ๕ % ๓ เดือน

          (ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง)

          ๑. กรณีเสพสุรา
          เจ้าหน้าที่จัดเก็บฯ นั่งดื่มสุราบนศาลารอรถกลางหมู่บ้านในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการตั้งแต่เช้าจนมึนเมา ตะโกนร้องเพลงเสียงดังรบกวนชาวบ้านแล้วนอนหลับบนศาลานั้นตลอดทั้งวัน ชาวบ้านที่พบเห็นร้องเรียนนายกฯ ลงโทษไล่ออกจากราชการ

          ๒. กรณีเบิกเงินสวัสดิการเป็นเท็จ
          หัวหน้าสำนักปลัด ทำรายงานเบิกค่ารถยนต์บรรทุกสิ่งของและสัมภาระออกจากที่พักสังกัดเดิมไปยังบ้านพักสังกัดใหม่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่มีการจ้างรถยนต์บรรทุก แต่ได้ขอใบเสร็จรับเงินจากเอกชนมาประกอบการเบิก ลงโทษปลดออกจากราชการ
         
          ๓. กรณีเรียกเงินเพื่อพาเข้าทำงาน
          เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี หลอกลวงชาวบ้านว่าสามารถฝากบุตรหลานให้เข้ารับราชการได้ และเรียกรับเงินจากราษฎรหลายราย ๆ ละ ๑๕๐,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ บาท ล่วงหน้าก่อน และเมื่อได้รับการบรรจุแล้วจะต้องจ่ายเพิ่มอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ ทั้งที่ตนเองไม่มีหน้าที่รับบุคคลเข้าทำงาน ลงโทษปลดออกจากราชการ

          ๔. กรณีไม่ชำระหนี้
          เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นกับภรรยาในการซื้อสินค้ากับชาวต่างชาติ แล้วไม่ชำระหนี้ โดยนำสินค้าเข้าประเทศเพื่อหาผลประโยชน์ จนเกิดการร้องเรียน ลงโทษปลดออกจากราชการ
         
          ๕. กรณีประพฤติตนในทำนองชู้สาว
          นายช่างโยธา แอบลักลอบได้เสียกับภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเพื่อนข้าราชการในสำนักงานเดียวกัน ลงโทษปลดออกจากราชการ
         
          ๖. กรณียาเสพติด
          เจ้าพนักงานธุรการ ขอลากิจส่วนตัวไปกรุงเทพฯ แต่กลับลักลอบเดินทางไปต่างประเทศ และถูกจับกุมฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท ๒ (ฝิ่น) ไว้ในครอบครอง และพยายามนำออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ลงโทษไล่ออกจากราชการ

          ๗. กรณีกระทำอนาจาร
          เจ้าหน้าที่ป้องกันฯ หลอกอดีตนักศึกษาสาวฝึกงานว่า พี่ชายให้ไปพบโดยให้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของตนไป แล้วออกอุบายจอดรถ เมื่อสบจังหวะได้โอบกอดขอให้ยอมเป็นภรรยา จากนั้นใช้กำลังปลุกปล้ำ แต่อดีตนักศึกษาฝึกงานไม่ยอม ต่อสู้ ขัดขืน ดิ้นรน และวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอดจนหกล้มได้รับบาดเจ็บ ลงโทษไล่ออกจากราชการ

          ๘. กรณีทุจริตในการสอบ
          บุคลากร ลักลอบนำเอกสารที่มีข้อความเกี่ยวกับความรู้ในการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้เป็นนักบริหารเข้าไปในห้องสอบแล้วซุกซ่อนไว้ใต้กระดาษคำตอบ ลงโทษปลดออกจากราชการ

          ๙. กรณีปลอมแปลงเอกสาร
          นักพัฒนาชุมชน ลงลายมือชื่อในใบขอกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ทั้งในฐานะผู้กู้ พยาน คู่สมรสผู้ให้ความยินยอม และผู้ค้ำประกัน ได้เงินไป ๗๔,๐๐๐ บาท ลงโทษให้ออกจากราชการ (กฎหมายเดิม)

          ๑๐. กรณีกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก
          เจ้าหน้าที่ป้องกันฯ ถูกตำรวจจับกุมและดำเนินคดีอาญาข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๑ (เฮโรอิน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ๕๐ ปี ลงโทษไล่ออกจากราชการ
       
          หมายเหตุ
          บางตัวอย่างหรือบางกรณีศึกษา เป็นข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการประเภทอื่น ด้วยเหตุที่การรายงานการดำเนินการทางวินัย ต้องรายงานไปที่ ก.จังหวัด (ก.จ.จ.,ก.ท.จ., ก.เมืองพัทยา, ก.อบต.จังหวัด) และจบที่ ก.จังหวัด เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่า "ก.จังหวัด เทียบเท่า ก.พ." ดังนั้น กรณีศึกษาจึงไม่มีข้อมูลอยู่ที่ ก.กลาง เว้นแต่เป็นเรื่องหารือ หรือมีบางประเด็นเท่านั้น จึงจะเข้าสู่การพิจารณาของ ก.กลาง อีกครั้ง
          แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีประกาศ ก.ถ.ให้การลงโทษทางวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน และ ก.กลาง ให้นำแนวทางการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนมาใช้กับข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย



                               บทที่ ๖
            วิธีก่อนการดำเนินการทางวินัย

          ระบบวินัยของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่อนุวัตรข้าราชการพลเรือนนั้น จะมีลักษณะรวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทั้งสารบัญญัติ คือ ส่วนที่เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติ คล้ายประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และวิธีสบัญญัติ คือ วิธีการหรือกระบวนการนำข้าราชการผู้ละเมิดสารบัญญัติมาลงโทษ เปรียบได้กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นต้น ดังนั้น ในบทที่ ๕ ที่เรียนมาก่อนหน้านี้ ถือเป็น "สารบัญญัติ" และตั้งแต่บทนี้เป็นต้นไปจะเป็นวิธีสบัญญัติทั้งสิ้น
          การเรียนการสอน จะใช้วิธีการวางข้อกำหนด หรือ "ตัวบท" จากนั้นจะเป็นคำอธิบาย โดยแยกสาระ/ประเด็นหรือข้อแนะนำ ให้ชัดเจน เพื่อนำไปใช้อย่างถูกต้อง รูปแบบของแต่ละข้อ จึงเป็นดังนี้
          ๑. ตัวบท
          ๒. คำอธิบาย

          ตัวบท
          ข้อ ๒๔ ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย
          การเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัยให้กระทำโดย การปฏิบัติตนเป็นแบยอย่างที่ดี การฝึกอบรม การสร้างขวัญและกำลังใจ การจูงใจ หรือการอื่นใดในอันที่จะเสริมสร้างและพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปในทางที่มีวินัย
          การป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยให้กระทำโดย การเอาใจใส่ สังเกตการณ์ และขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัยในเรื่องอันอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการป้องกันตามควรแก่กรณีได้
          เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำเนินการทางวินัยทันที
          เมื่อมีการกล่าวหาโดยปรากฏตัวผู้กล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยยังไม่มีพยานหลักฐาน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นรีบดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่
          เมิ่อมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการตามวรรคห้า เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
          (๑) มีการกล่าวหาที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้กล่าวหา ไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้กล่าวหา แต่ระบุชื่อหรือตำแหน่งของผู้ถูกล่าวหา หรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นเพียงพอที่จะทราบว่ากล่าวหาข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใด และข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมนั้นเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปได้
          (๒) มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปได้
          ภายใต้บังคับวรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก หากความปรากฏแก่ผู้บังคับบัญชาอื่นที่มิใช่ผู้บริหารท้องถิ่น ให้ผู้บังคับบัญชาอื่นนั้นรายงานตามลำดับชั้นถึงผู้บริหารท้องถิ่นโดยเร็ว
          การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น ตามวรรคห้า จะกระทำโดยแต่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้
          การกล่าวหาต้องกระทำเป็นหนังสือ ถ้าเป็นการกล่าวหาด้วยวาจาให้ผู้บังคับบัญชาผู้ได้รับฟังการกล่าวหาจัดให้มีการทำบันทึกเป็นหนังสือ และให้ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตามวรรคห้า
          เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคห้าแล้ว ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงจะยุติเรื่องได้ ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที
          การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรฐานทั่วไปนี้ โดยกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ดำเนินการทางวินัยตามข้อ ๒๖ วรรคสาม แต่ถ้าเป็นกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามหมวด ๗
          ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย ในกรณีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ

          หมายเหตุ
          แก้ไขบทเรียน ครั้งที่ ๖-๘ จาก "บทที่ ๖ ให้เป็น บทที่ ๕ วินัยและการรักษาวินัย"
         

                                   สวัสดี
         

----------
          ๑. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. ๒๕๕๘
          ๒. กรมการปกครอง, คู่มือการทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน, ๒๕๔๕.
          ๓. สำนักงาน ก.พ., แนวทางการลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕, กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, ๒๕๔๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑                                    ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๑                                       ...