วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๒๒/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๒๒/๒๕๖๑
                                   ๑๔ ส.ค. ๒๕๖๑

                                               โดย..
                                    ประวิทย์ เปรื่องการ



                                 บทที่ ๑๐
                  การสอบสวนพิจารณา (ต่อ)


          ตัวบท
          (การรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม)
          ข้อ ๖๒ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานตามข้อ ๖๑ เสร็จแล้ว ก่อนเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บริหารท้องถิ่นตามข้อ ๗๖ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเป็นจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการได้ ถ้าพยานหลักฐานที่ได้เพิ่มเติมมานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนสรุปพยานหลักฐานดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้เฉพาะพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนข้อกล่าวหานั้น ทั้งนี้ ให้นำข้อ ๖๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          คำอธิบาย
          การรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นของการสอบสวนเพิ่มเติม หมายถึง ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานตาม สว.๓ ตามปกติเสร็จแล้ว ก่อนจะเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บริหารท้องถิ่น ถ้าคณะกรรมการสอบสวน เห็นว่า
          ๑. มีความจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้สามารถกระทำได้
          ๒. ถ้าพยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
          ๓. ต้องสรุป สว.๓ เพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
          ๔. พร้อมทั้งให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง หรือนำสืบแก้เฉพาะในส่วนที่เพิ่มเติมนั้น


          ตัวบท
          (การชี้แจงเพิ่มเติม)
          ข้อ ๖๓ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้ยื่นคำชี้แจง หรือให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาไว้แล้ว มีสิทธิยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือขอให้ถ้อยคำ หรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ต่อคณะกรรมการสอบสวนก่อนการสอบสวนแล้วเสร็จ
          เมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นคนใหม่ตามข้อ ๗๔ ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นคำชี้แจงต่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้รับคำชี้แจงนั้นรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

          คำอธิบาย
          แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้ชี้แจง หรือให้ถ้อยคำเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่หากมีความจำเป็นที่จะเพิ่มเติม ยังสามารถกระทำในชั้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ (ในชั้น ก.จังหวัด ก็มีการเพิ่มเติมตามมติ ก.จังหวัดได้) ซึ่งมี ๓ ลักษณะ คือ
          ๑. ยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติม
          ๒. ขอให้ถ้อยคำเพิ่มเติม
          ๓. นำสืบแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

          โดยสิทธิดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหา มี ๓ ขั้นตอน ดังนี้
          ๑. ก่อนคณะกรรมการสอบสวนเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บริหารท้องถิ่น โดยยื่นต่อคณะกรรมการสอบสวนนั้นเอง
          ๒. หลังคณะกรรมการเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บริหารท้องถิ่นแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งการของผู้บริหารท้องถิ่น
          ๓. กรณีมีการโอน (ย้าย) ไปอยู่สังกัดใหม่ในระหว่างการสอบสวน ซึ่งสังกัดเดิมได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ แต่ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ยังไม่ได้พิจารณาสั่งการ
          ๔. การยื่นตามข้อ ๒ และ ๓ ให้ยื่นต่อผู้บริหารท้องถิ่นที่มีอำนาจพิจารณาสั่งการสำนวนนั้น
          ๕. ในกรณีการยื่นเพิ่มเติมทั้ง ๓ ขั้นตอน ผู้ที่รับต้องรวมไว้ในสำนวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
         

          ตัวบท
          (เน้นองค์ประชุม)
          ข้อ ๖๔ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้

          คำอธิบาย
          ดังได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๕๓ ว่า องค์ประชุมนั้นจะต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงถือว่าเป็นองค์ประชุม และเพื่อเน้นในเรื่องดังกล่าว จึงมีการย้ำเตือนในข้อนี้อีกว่า ในการสอบปากคำต้องมีกรรมการสอบสวนร่วมสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะสอบสวนได้ ถ้าน้อยกว่ากึ่งหนึ่งไม่อาจสอบสวนได้เลย หากสอบสวนทั้งที่กรรมการสอบสวนมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง การสอบสวนในวันนั้นหรือครั้งนั้นย่อมเสียไปไม่อาจใช้ฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้

          หมายเหตุ
          กรรมการที่ลงลายมือชื่อในบันทึกการให้ถ้อยคำ ต้องร่วมนั่งสอบสวนอยู่ด้วย จึงจะสามารถลงลายมือชื่อได้


          ตัวบท
          (ข้อห้ามเวลาสอบปากคำ)
          ข้อ ๖๕ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ห้ามมิให้กรรมการสอบสวนผู้ใดกระทำการล่อลวง ขู่เข็ญ ให้สัญญา หรือกระทำการใดเพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำอย่างใด ๆ

          คำอธิบาย
          ในการสอบปากคำ ห้ามกรรมการสอบสวนผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้
          ๑. ล่อลวง
          ๒. ขู่เข็ญ
          ๓. ให้สัญญา หรือ
          ๔. กระทำการใด
          เพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำ
          หากมีการกระทำดังกล่าวข้างต้น จะทำให้การสอบสวนครั้งนั้นเสียไปเฉพาะสาวนั้น เช่น ให้สัญญาว่าจะเสนอให้มีการกันผู้กระทำผิดวินัยรายหนึ่งเป็นพยาน โดยจะไม่ดำเนินการทางวินัยเพื่อให้ผู้นั้นให้ถ้อยคำใด ๆ เป็นต้น
         

          ตัวบท
          (วิธีสอบปากคำ)
          ข้อ ๖๖ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ซึ่งจะถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน ห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่ทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหา หรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน
          การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้บันทึกถ้อยคำมีสาระสำคัญตามแบบ สว.๔ หรือแบบ สว.๕ ท้ายมาตรฐานทั่วไปนี้ แล้วแต่กรณี เมื่อได้บันทึกถ้อยคำเสร็จแล้วให้อ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟัง หรือจะให้ผู้ให้ถ้อยคำอ่านเองก็ได้ เมื่อผู้ให้ถ้อยคำรับว่าถูกต้องแล้วให้ผู้ให้ถ้อยคำและผู้บันทึกถ้อยคำลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และให้คณะกรรมการสอบสวนทุกคนซึ่งร่วมสอบสวนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้นด้วย ถ้าบันทึกถ้อยคำมีหลายหน้า ให้กรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า
          ในการบันทึกถ้อยคำห้ามมิให้ขูดลบหรือบันทึกข้อความทับ ถ้าจะต้องแก้ไขข้อความที่ได้บันทึกไว้แล้ว ให้ใช้วิธีขีดฆ่าหรือตกเติม และให้กรรมการสอบสวนผู้ร่วมสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่งที่ขีดฆ่าหรือตกเติม
          ในกรณีผู้ให้ถ้อยคำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ใหบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำนั้น
          ในกรณีผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นำมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          คำอธิบาย
          วิธีการสอบปากคำ ให้คณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการ ดังนี้
          ๑. เรียกผู้จะถูกสอบสวนนั้นเข้ามาทีละคน
          ๒. ห้ามมิให้ผู้อื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่
              (๑) ทนายความ หรือ
              (๒) ที่ปรึกษา
              ของผู้ถูกกล่าวหา หรือ
              (๓) บุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนอนุญาตเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน
          ๓. ให้บันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา นั้น ตามแบบ สว.๔
          ๔. ให้บันทึกถ้อยคำพยาน (ทุกฝ่าย) ตามแบบ สว.๕
          ๕. เมื่อบันทึกถ้อยคำเสร็จ
              (๑) ให้อ่านให้ผู้นั้นฟัง หรือ
              (๒) ให้ผู้นั้นอ่านเอง
          ๖. หากผู้นั้นรับว่าถูกต้อง ให้ผู้นั้นและผู้บันทึก รวมทั้งกรรมการสอบสวนที่ร่วมสอบทุกคนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
          ๗. หากบันทึกมีหลายหน้า ให้กรรมการสอบสวน ๑ คน (เป็นอย่างน้อย) และผู้ให้ถ้อยคำนั้นลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า
          ๘. ห้ามมิให้ขูดลบหรือขีดข้อความทับ
          ๙. ถ้าจะต้องแก้ไข ให้ใช้วิธีขีดฆ่าแล้วตกเติม แล้วให้กรรมการสอบสวนที่ร่วมสอบสวน ๑ คน (เป็นอย่างน้อย) และผู้ให้ถ้อยคำนั้นลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง
        ๑๐. กรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกนั้นเอง
        ๑๑. ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นำมาตรา ๙ แห่ง ป.พ.พ.มาใช้บังคับ กล่าวคือ ให้ใช้
               (๑) ลายพิมพ์นิ้วมือ
               (๒) แกงได
               (๓) ตราประทับ หรือ
               (๔) เครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น
          แทนการลงลายมือชื่อ
     

          ตัวบท
          (การตัดพยาน)
          ข้อ ๖๗ ในกรณีคณะกรรมการ
สอบสวนเรียกบุคคลใดมาเป็นพยาน ให้บุคคลนั้นมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด
          ในกรณีพยานมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำ หรือไม่มา หรือคณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานไม่ได้ภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนพยานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสอบสวนตามข้อ ๕๗ และรายงานการสอบสวนตามข้อ ๗๖

          คำอธิบาย
          พยานต้องมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการสอบสวนกำหนด

          การตัดพยานนั้น ให้ใช้ในกรณีต่อไปนี้
          ๑. พยานมาแต่ไม่ให้ถ้อยคำ
          ๒. พยานไม่มา
          ๓. เรียกพยานไม่ได้ภายในเวลาอันสมควร
          คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบ (ตัด) พยานนั้นก็ได้ โดยบันทึกเหตุนั้นไว้ แล้วพิจารณาลงมติเพื่อจัดทำ สว.๖ ต่อไป


          ตัวบท
          (การงดพยาน)
          ข้อ ๖๘ คณะกรรมการสอบสวนต้องสอบสวนให้หมดประเด็น ในกรณีที่เห็นว่าการสอบสวนพยานหลักฐานใดจะให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ คณะกรรมการสอบสวนจะมีมติงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสอบสวนตามข้อ ๕๗ และรายงานการสอบสวนตามข้อ ๗๖

          คำอธิบาย
          หลักในการสอบสวน คือ "ต้องสอบให้หมดประเด็น" หรือ "สอบให้สิ้นกระแสความ"
          ในกรณีคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า
          ๑. พยานหลักฐานฐานใดที่จะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือ
          ๒. มิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ
          จะมีมติงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ (เป็นดุลพินิจ) โดยบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกประจำวันที่มีการสอบสวน แล้วพิจารณาลงมติเพื่อจัดทำ สว.๖ ต่อไป 

          หมายเหตุ
          การ "สอบให้หมดประเด็น" หรือ "สอบให้สิ้นกระแสความ" หมายถึง หากมีประเด็น หรือมีการพาดพิงต่อกันเป็นทอด ๆ คณะกรรมการสอบสวนจะต้องสอบทุกประเด็น หรือสอบบุคคลที่ถูกพาดพิงทุกคน หากไม่สอบสวน จะต้องปิดประเด็นให้ได้ว่า เพราะเหตุใดจึง "ตัด" หรือ "งด" ประเด็นหรือพยานที่มีการกล่าวอ้างพาดพิงนั้น เพื่อเป็นการ "ปิดประเด็น" การสอบสวน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การสอบสวนจะไม่หมดประเด็น หรือไม่สิ้นกระแสความ ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของการสอบสวนอย่างแท้จริง
             

                               สวัสดี


-----------
           - มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. ๒๕๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑                                    ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๑                                       ...