วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๒๔/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๒๔/๒๕๖๑
                                    ๒๑ ส.ค. ๒๕๖๑

                                               โดย..
                                    ประวิทย์ เปรื่องการ



                                 บทที่ ๑๐
                  การสอบสวนพิจารณา (ต่อ)
                 


          ตัวบท
          (นำคำพิพากษาถึงที่สุดมาใช้กับวินัยต้องแจ้ง สว.๓)
          ข้อ ๗๓ ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด หรือต้องรับผิดในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา ถ้าคณะกรรมการสอบสวน เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้ว ให้ถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องสอบสวนพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๖๑ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย

          คำอธิบาย
          กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดในเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น ถ้า
          ๑. คณะกรรมการเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาชัดแล้ว
          ๒. ให้ถือเอาคำพิพากษานั้นเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
          ๓. โดยไม่ต้องสอบสวนพยานหลักฐานอื่น
          ๔. แต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าจะนำคำพิพากษามาใช้
          ๕. แล้วแจ้ง สว.๓ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย


          ตัวบท
          (โอนสังกัดระหว่างสอบสวน)
          ข้อ ๗๔ ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกการบังคับบัญชาของผู้บริหารท้องถิ่นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปจนแล้วเสร็จ แล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บริหารท้องถิ่นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๗๙ ข้อ ๘๐ ข้อ ๘๑ และข้อ ๘๒ และให้ผู้บริหารท้องถิ่นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนส่งเรื่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๗๙ ข้อ ๘๐ ข้อ ๘๑ และข้อ ๘๒ พร้อมทั้งพิจารณาและดำเนินการตามข้อ ๗๗ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณีต่อไป

          คำอธิบาย
          การโอน (ย้าย) สังกัดของข้าราชการเป็นสิ่งอันพึงสามารถกระทำได้ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ แม้จะอยู่ในระหว่างถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็ตาม ผู้บังคับบัญชาจะอ้างเป็นเหตุมิให้โอน (ย้าย) หาได้ไม่ เพราะถึงได้โอน (ย้าย) สังกัดใหม่ไป คณะกรรมการสอบสวนที่ผู้บังคับบัญชาสังกัดเดิมได้แต่งตั้งไว้แล้ว ต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อไปตามปกติ
          ดังนั้น เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดไว้แล้วก่อนการโอน (ย้าย) สังกัด จึงต้องอยู่ในเงื่อนไขและขั้นตอน ดังต่อไปนี้
          ๑. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว
          ๒. เมื่อเงื่อนไขตามกฎหมายครบถ้วน ข้าราชการส่วนท้องถิ่นยื่นความประสงค์ขอโอน (ย้าย) ผู้บริหารท้องถิ่นต้องอนุญาต เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
          ๓. ผู้บริหารท้องถิ่นจะอ้างเหตุที่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเพื่อมิให้โอน (ย้าย) ไม่ได้
          ๔. คณะกรรมการสอบสวนต้องทำการสอบสวนต่อไปจนแล้วเสร็จ
          ๕. จากนั้นให้ทำรายงานการสอบสวน (สว.๖) พร้อมกับทำสำนวนการสอบสวน
          ๖. เสนอผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดเดิม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับ
               (๑) คุณสมบัติของคณะกรรมการสอบสวน ถูกต้องหรือไม่ (อีกครั้ง)
               (๒) มีการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องบ้าง
               (๓) คณะกรรมการสอบสวน ได้แจ้ง สว.๓ หรือไม่
               (๔) การสอบสวนที่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้กระทำ มีบ้างหรือไม่
               ซึ่งบางกรณีผู้บริหารท้องถิ่นต้องสั่งให้แก้ไขโดยเร็ว
          ๗. เมื่อถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดเดิมต้องส่งเรื่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ (โดยไม่ต้องแสดงความเห็น)
          ๘. ผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ ต้องตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับ
               (๑) คุณสมบัติของคณะกรรมการสอบสวน ถูกต้องหรือไม่
               (๒) มีการสอบสวนตอนใดทำไม่ถูกต้องบ้าง
               (๓) คณะกรรมการสอบสวนได้แจ้ง สว.๓ หรือไม่
               (๔) การสอบสวนที่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้กระทำ มีบ้างหรือไม่
               (อีกครั้ง)
               ซึ่งบางกรณีผู้บริหารท้องถิ่นสังกัดใหม่ต้องส่งกลับไปให้สังกัดเดิมแก้ไขโดยเร็ว
          ๙. เมื่อสำนวนการสอบสวนถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ผู้บริการท้องถิ่นต้องพิจารณาสั่งการ (ลงโทษ) ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในข้อ ๗๗ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี ต่อไป


          ตัวบท
          (กรรมการประชุมพิจารณาลงมติ)
          ข้อ ๗๕ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้ประชุมพิจารณาลงมติ ดังนี้
          (๑) ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าผิดเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามข้อใด และควรได้รับโทษสถานใด
          (๒) ผู้ถูกกล่าวหาหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามข้อ ๗ ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ หรือไม่ อย่างไร
          (๓) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการตามข้อ ๘ ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ หรือไม่ อย่างไร

          คำอธิบาย
          เมื่อได้รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการสอบสวนต้องประชุมพิจารณาเพื่อลงมติว่า
          ๑. ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่
              (๑) ถ้าผิด เป็นความผิดทางวินัยกรณีใด
              (๒) ตามข้อใด (ฐานความผิดใด ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง)
              (๓) ควรได้รับโทษสถานใด
          (กรณีเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดทางวินัยตามข้อกล่าวหา เห็นควรยุติเรื่อง เพราะเหตุใด ให้มีความเห็นด้วย)
          ๒. ผู้ถูกกล่าวหา
               (๑) หย่อนความสามารถ
               (๒) บกพร่อง หรือ
               (๓) ประพฤติตนไม่เหมาะสม
              หรือไม่ อย่างไร (หากพบกรณีตามข้อ ๒ นี้ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องออกสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่อีก ๑ คำสั่ง เว้นแต่เป็นการกระทำที่ปรากฏชัดแจ้ง)
          ๓. กรณมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่
              (๑) การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่ฟังลงโทษปลด/ไล่ออก
              (๒) ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเกิดการเสียหาย
              หรือไม่ อย่างไร
           

          ตัวบท
          (การทำรายงานการสอบสวน สว.๖)
          ข้อ ๗๖ เมื่อได้ประชุมพิจารณาลงมติตามข้อ ๗๕ แล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนซึ่งมีสาระสำคัญตามแบบ สว.๖ ท้ายมาตรฐานทั่วไปนี้ เสนอต่อผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการสอบสวนผู้ใดมีความเห็นแย้ง ให้ทำความเห็นแย้งแนบไว้กับรายงานการสอบสวน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสอบสวนด้วย
          รายงานการสอบสวนอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
          (๑) สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีอย่างใดบ้าง ในกรณีไม่ได้สอบสวนพยานตามข้อ ๖๗ และข้อ ๖๘ ให้รายงานเหตุที่ไม่ได้สอบสวนนั้นให้ปรากฏไว้ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพ ให้บันทึกเหตุผลในการรับสารภาพ (ถ้ามี) ไว้ด้วย
          (๒) วินิจฉัยเปรียบเทียบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหากับพยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหา
          (๓) ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ อย่างไร ถ้าผิด เป็นความผิดวืนัยกรณีใด ตามข้อใด และควรได้รับโทษสถานใด หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการตามข้อ ๗ ของมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ หรือไม่ อย่างไร หรือมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการตามข้อ ๘ ของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ หรือไม่ อย่างไร
          เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานการสอบสวนแล้ว ให้เสนอสำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งสารบาญต่อผู้บริหารท้องถิ่น และให้ถือว่าการสอบสวนแล้วเสร็จ
          การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนในเรื่องใดไปแล้ว จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องนั้นอีกมิได้ เว้นแต่กรณีตามข้อ ๗๘ วรรคสอง
     
             
                               สวัสดี


----------
          - มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. ๒๕๕๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บทเรียน..ผ่านไลน์" ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑

"บทเรียน..ผ่านไลน์"    ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑                                    ๒๐ ก.ย. ๒๕๖๑                                       ...